วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

อาชีพจิตกร

นิยามอาชีพ
          สร้างสรรค์ภาพสองมิติ ด้วยกระบวนการจากจินตนาการ: ร่างแบบจำลอง ย่อแบบ ขยายแบบ และใช้เทคนิคทางจิตรกรรม เช่น การใช้สีน้ำ สีน้ำมัน หรือสีชนิดอื่นๆ ให้ออกมาเป็นผลงาน ซึ่งอาจเป็นภาพเหมือน ภาพบุคคลสำคัญ ภาพวิวทิวทัศน์ ภาพนามธรรม หรือภาพอื่นๆ รวมถึงการคัดเลือกวัสดุและกรรมวิธีที่เหมาะสมกับงานจิตรกรรมแต่ละประเภท ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถเฉพาะบุคคล
ลักษณะงานที่ทำ
          เมื่อลูกค้ามีความต้องการให้ผู้ประกอบอาชีพนี้วาดภาพตามประเภทของงานที่ศิลปินมีความถนัดและเชี่ยวชาญ โดยผู้ประกอบอาชีพนี้ จะปฏิบัติดังนี้
 1.  รับฟังความต้องการของลูกค้า ว่าต้องการภาพประเภทใด ชื่อภาพอะไร และจะประดับภาพไว้ที่ไหน จากนั้นจึงให้คำปรึกษาแนะนำแก่ลูกค้า
 2. ศึกษาข้อมูล รายละเอียดของงาน ถ้าเป็นงานชิ้นใหญ่ อาจต้องร่างภาพตัวอย่างให้ดูเพื่อรับฟังความคิดเห็น
 3. ศึกษาสถานที่ที่ลูกค้าต้องการติดตั้งภาพ เพื่อกำหนดขนาดของภาพและจำนวนภาพ
 4. สรรหาวัตถุดิบ หรือแสวงหาแหล่งวัสดุต่างๆ มาใช้ในการประกอบการทำงาน 
 5. เสนอประมาณราคา ค่าวัสดุ ค่าจ้างวาดภาพพร้อมกับกำหนดเวลาการทำงาน
 6. ลงมือวาดภาพ ถ้าภาพใหญ่มากลูกค้าอาจขอชมผลงานเป็นระยะ
 7. ช่วยให้คำแนะนำลูกค้าในเรื่องของกรอบรูปภาพ และประเภทของวัสดุที่เหมาะสมสอดคล้องกับอาคาร 
สถานที่ติดตั้ง และรสนิยมของลูกค้า
 8. ให้คำแนะนำเรื่องการติดตั้งภาพให้เหมาะสม เพื่อทำให้อาคารหรือสถานที่ติดตั้งมีบรรยากาศตรงตามที่ลูกค้าต้องการ และเป็นที่พึงพอใจของผู้พบเห็น
สภาพการจ้างงาน
          จิตรกรที่เพิ่งเริ่มงาน อาจได้รับอัตราค่าจ้างวาดรูปขนาดเล็กตั้งแต่ราคาประมาณรูปละ 1,500 – 3,000 บาท สำหรับศิลปินที่ได้รับรางวัลจากงานประกวดบ้างแล้วอาจขายภาพได้ตั้งแต่ราคาประมาณ 5,000 บาทขึ้นไป ศิลปินที่มีชื่อเสียงอาจตั้งราคาภาพไว้ที่ 10,000 บาทขึ้นไป ส่วนภาพขนาดใหญ่อาจมีราคาประมาณ 100,000 บาทขึ้นไป ตามขนาดของภาพ เนื้อเรื่อง รายละเอียดในการวาดภาพ สถานที่ติดตั้งภาพ ชื่อเสียงและฝีมือของจิตรกร
          แกลลอรี่ เป็นสถานที่หนึ่งที่รับภาพต่างๆ ไปจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวหรือผู้ชอบภาพเขียนทั่วไป ภาพเขียนที่ได้รับความนิยมจะขึ้นอยู่กับกระแสสถานการณ์ และความชื่นชอบของลูกค้า ปัจจุบันคนไทยมีความสนใจจัดหาภาพไปประดับในบ้านเรือน อาคาร สำนักงานมากขึ้น ภาพเขียนจะมีผู้สนใจซื้อ ต่อเมื่อฐานะของผู้ซื้อมีความพร้อม และเมื่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ผู้ที่เพิ่งประกอบอาชีพนี้ และมีฝีมือในการวาดภาพอาจได้รับเงินเดือนประจำจากแกลลอรี่โดยอาจมีข้อตกลง เช่น ผลิตงานให้แกลลอรี่แห่งนั้นแห่งเดียว
          ตัวแทนจำหน่าย เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่เข้ามาช่วยให้จิตรกรมีโอกาสขายภาพได้มากขึ้น โดยนำผลงานของจิตรกรประเภทต่างๆ ไปเสนอให้ลูกค้าเลือกชม ถ้าลูกค้าพอใจผลงานของจิตรกรก็จะมีการจ้างให้วาดภาพหรือซื้อขายเกิดขึ้น โดยดีลเลอร์จะได้รับผลตอบแทนประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ หรือตามข้อตกลง
          จิตรกรอาจได้รับการว่าจ้างจากลูกค้าให้ออกแบบภาพ เพื่อไปเป็นส่วนประกอบการผลิตสินค้าที่ทำให้สินค้านั้นมีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นราคาในการออกแบบต้นฉบับ จึงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการตกลงซึ่งอาจต้องใช้ข้อกฎหมายมาประกอบในการทำสัญญาว่าจ้างให้ชัดเจน 
          ถ้าผู้ประกอบอาชีพนี้ ถ้าประกอบอาชีพอิสระ จะไม่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลใดๆ ดังนั้น จึงควรระมัดระวังในขณะปฏิบัติงาน เช่น การขึ้นไปวาดภาพในที่สูงๆ และควรบริหารจัดการการเงินที่ได้รับมาอย่างเหมาะสมเพื่อใช้ผลิตงานสำหรับการแสดงผลงานของตนเองอย่างต่อเนื่องต่อไป
สภาพการทำงาน
          อาจทำงานทั้งในห้องทำงานขนาดเล็กที่จัดเป็นสัดส่วน มีอุปกรณ์ เครื่องใช้ทำงานครบถ้วนไปจนถึงสตูดิโอ ศาลา โบสถ์ อาคารขนาดใหญ่ หรืออาจต้องออกไปนอกสถานที่ตามเงื่อนไขที่ตกลงกับผู้ว่าจ้างการทำงานอาจทำงานคนเดียว หรือทำงานเป็นทีม ขึ้นอยู่กับขนาดของภาพ และกำหนดเวลา โดยต้องเตรียมจัดหาวัสดุอุปกรณ์ในการวาดภาพให้พร้อมด้วยตัวเอง เวลาในการทำงานส่วนมากจะเป็นเวลาที่ผู้ประกอบอาชีพนี้มีความพอใจในการทำงานโดยคำนึงถึงกำหนดเวลา ตามที่ตกลงกันไว้ 
          ภาพบางชิ้น ที่มีเนื้อหายากเช่นภาพประเพณี วรรณคดี หรือศาสนาจิตรกรภาพไทยอาจต้องใช้เวลาประมาณ 2 – 6 เดือน หรืองานบางประเภทอาจใช้เวลาเป็นปีๆ จึงจะแล้วเสร็จ 
 
คุณสมบัติผู้ประกอบอาชีพ
 1. มีความคิดสร้างสรรค์
 2. มีความตั้งใจอดทน มีความรับผิดชอบสูง
 3. มีมนุษยสัมพันธ์ดี 
 4. ขยันค้นคว้า ศึกษาหาข้อมูลทั้งในด้านวิชาชีพ และด้านการตลาด 
 5. มีความรู้จริงในวิชาชีพ สรรค์สร้างผลงานให้มาตรฐาน
 6. มีใจเปิดกว้าง ยืดหยุ่น 
 7. มีความเป็นนักประชาสัมพันธ์
ผู้ที่สนใจในอาชีพนี้ ควรเตรียมความพร้อมดังนี้
          ผู้ที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น หรือเทียบเท่า อาจเข้าศึกษาต่อในสายประโยควิชาชีพ ในโรงเรียนหรือวิทยาลัยของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ที่มีการเรียนการสอนวิชาสถาปัตยกรรม ช่างศิลป์ วิจิตรศิลป์ และสามารถศึกษาต่อจนถึงระดับประโยควิชาชีพชั้นสูง
          สำหรับผู้จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ควรเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาโดยสามารถเลือกคณะจิตรกรรม ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม อุตสาหกรรมศิลป์ ของสถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยทั่วภูมิภาคที่มีการเปิดสอน เป็นต้น
          ประชาชนทั่วไปที่สนใจประกอบอาชีพนี้อาจเข้ารับการอบรมหลักสูตรการวาดภาพจาก วิทยาลัยช่างศิลป์ หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือองค์กรวัฒนธรรมระหว่างประเทศต่างๆ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดที่เปิดอบรมทุกภาคฤดูร้อน หรือในช่วงเวลาพิเศษ จากนั้นอาจติดต่อขอให้อาจารย์หรือศิลปินผู้หนึ่งผู้ใดเป็นครูผู้สอนแนะนำเป็นส่วนตัว เพื่อขอคำแนะนำติชมในการพัฒนาทักษะ ฝีมือ และแหล่งในการศึกษาหาความรู้อย่างถูกวิธีต่อไป
โอกาสในการมีงานทำ
          สภาวะเศรษฐกิจของไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา องค์กรภาครัฐได้มีการสนับสนุนส่งเสริมศิลปินโดยการจัดการประกวดแข่งขันตราสัญลักษณ์และจิตรกรรมสาขาต่างๆ มากขึ้น อีกทั้งยังมีการทำประชาสัมพันธ์งานเหล่านี้อย่างทั่วถึง ดังนั้นจึงมีลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศจากองค์กรขนาดใหญ่ ภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจว่าจ้างและหาซื้อภาพจากศิลปินไทยไปประดับเพื่อส่งเสริมความสวยงาม ความเป็นเอกลักษณ์ ของสถานที่ทำงานซึ่งสามารถบ่งบอกฐานะ รสนิยมและความสนใจทางวัฒนธรรมของผู้บริหารองค์กร หรืออาจได้รับการว่าจ้างให้ออกแบบตราสัญลักษณ์ต่างๆ ขององค์กรมากขึ้น ปัจจุบันได้มีการรวบรวมประวัติและผลงานของผู้ประกอบอาชีพนี้ที่มีชื่อเสียงไว้ค่อนข้างสมบูรณ์ซึ่งสะดวกต่อการค้นหาของลูกค้า ดังนั้นผู้สนใจประกอบอาชีพนี้อาจหาช่องทางแนะนำผลงานภาพวาดหรืองานศิลปกรรมต่างๆ ของตน ด้วยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อพาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้สนใจหาซื้อผลงานด้วยการสั่งซื้อทางเว็บไซต์
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
          สำหรับผู้เริ่มประกอบอาชีพนี้ การประชาสัมพันธ์ผลงานของตนเองเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นจึงควรบริหารการจัดเก็บข้อมูลแฟ้มภาพของตนเองให้ทันสมัยอยู่เสมอ โดยอาจใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้าช่วยจัดเก็บรวบรวมผลงานที่สามารถนำเสนอประชาสัมพันธ์ต่อลูกค้า ผู้สนใจทั่วไป หรือสื่อมวลชน หรืออาจติดต่อเว็บไซต์ที่จัดขายสินค้าในหมวดศิลปะภาพวาด
          การเข้าร่วมแสดงผลงานกับจิตรกรที่ประสบความสำเร็จ หรือจัดงานแสดงภาพวาดของตนเองโดยอาจขอความสนับสนุนจากองค์กรของรัฐ เอกชน หรือสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยเพิ่มโอกาสการขายงานหรือภาพวาดได้มากขึ้น
          ผู้ประกอบอาชีพนี้ในสถาบันการศึกษา หรือรับราชการเป็นอาจารย์สอนในภาควิชาสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อทำงานได้ระยะหนึ่ง สามารถลาศึกษาต่อในระดับปริญญาโท หรือปริญญาเอก เพื่อก้าวขึ้นไปสู่สายงานบริหาร เช่น เป็นหัวหน้าหน่วยงาน ผู้อำนวยการ ถ้าเป็นอาจารย์อาจได้รับเลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชา จนถึงคณบดี

อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
          เจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลปกรรมของบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ นักออกแบบฉากหรือเวที นักวาดภาพประกอบในนิตยสาร หนังสือต่างๆ นักออกแบบลวดลายต่างๆ เพื่อใช้ตกแต่งในบ้านเรือน เครื่องประดับ เสื้อผ้า เครื่องใช้ หรือบัตรอวยพรเอนกประสงค์ นักออกแบบแสตมป์หรือสัญลักษณ์ วิทยากร ครู–อาจารย์ มัคคุเทศก์นำชมภาพศิลปะทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือมัคคุเทศก์ในการนำชมธรรมชาติ เจ้าของโรงเรียนสอนศิลปะเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ให้กับกลุ่มเยาวชน

อาชีพพนักงานไปรษณีย์

อาชีพพนักงานไปรษณีย์

อาชีพพนักงานไปรษณีย์
อาชีพพนักงานไปรษณีย์หรืออาชีพพนักงานส่งจดหมาย
อาชีพไปรษณีย์ หรือ อาชีพส่งจดหมาย ส่งเอกสาร คัดแยกจดหมายต่าง ๆ เพื่อเตรียมจัดส่งพื้นที่บริการ
เป็นอาชีพที่มีความมั่นคงพอสมควร
อาชีพไปรษณีย์หรือเป็นที่รู้จักกันดีในนามพนักงานส่งจดหมาย
ปัจจุบันการส่งจดหมายได้เปลี่ยนสภาพเป็นเอกสารต่าง ๆ แทนข้อความการส่งจดมายเหมือนสมัยก่อน เทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์มาแทนที่การส่งจดหมายแบบช่องจดหมาย กลายเป็นการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แทน
ส่วนงานไปรษณีย์ ได้ปรับเปลี่ยนเป็นการส่งจดหมายเอกสาร พัสดุ ซึ่งมีความควบคุมทั่วประเทศ สะดวกรวดเร็ว และมีผู้ใช้บริการมาก เพื่อสอดรับการยุคสมัยและการแข่งขัน
ลักษณะงานที่เกี่ยวข้องกับอาชีพ
1. ส่งจดหมาย
2. ส่งเอกสาร
3. ส่งพัสดุ
4. จัดเรียงเอกสาร พัสดุ
5. ให้บริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
1. มีความขยันอดทน
2. มีความซื่อสัตย์
3. รักในงานบริการ
4. มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
5. ขับขี่รถได้
6. มีความสุภาพเรียบร้อย
7. อื่น ๆ
แนวทางพัฒนาอาชีพ
1. พนักงานไปรษณีย์
2. เจ้าหน้าที่รับส่งพัสดุ
3. เจ้าหน้าที่ตรวจเช็คเอกสาร
4. เจ้าหน้าที่คัดแยกเอกสาร
5. อื่น ๆ

อาชีพสัตวแพทย์

สัตวแพทย์ทั่วไป

นิยามอาชีพ
          ตรวจและวินิจฉัยโรคหรืออาการบาดเจ็บของสัตว์ : บำบัดรักษาป้องกันและการกำจัดโรคโดยการใช้ยา การผ่าตัด การฝังเข็มหรือใช้รังสีในการรักษา  การผ่าซากสัตว์เพื่อการชันสูตรโรคทำการตอนหรือขยายพันธุ์สัตว์ด้วยเทคนิคที่สามารถป้องกันการแพร่หรือการติดต่อของโรคทางการสืบพันธุ์ ; ค้นหาข้อมูลเหตุของโรคระบาดหรือโรคติดต่อ พร้อมกับหาทางป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่ไปยังสัตว์หรือจากสัตว์มาสู่คน  รวมถึงการทำงานด้านนิเวศวิทยา สุขศาสตร์การอาหาร มาตรฐานอาหารและปนเปื้อนในอาหารที่มีต้นกำเนิดมากจากสัตว์เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ; ทำการเพิ่มผลผลิตในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ให้มีประสิทธิภาพและทำการวิจัยและพัฒนาทางด้านสัตวแพทย์
ลักษณะของงานที่ทำ
1.  ตรวจโรคและให้การรักษาโดยใช้ยาหรือผ่าตัดสัตว์ที่เจ็บป่วย บาดเจ็บหรือต้องให้การรักษา
2.  ตรวจสัตว์ที่เจ็บป่วยเพื่อดูอาการผิดปกติของสัตว์ สั่งยาหรือให้ยาหรือทำการผ่าตัด
3. ตรวจร่างกายของโคนมหรือสัตว์อื่นๆ เป็นระยะและฉีดยาป้องกันโรค เช่นอหิวาห์ตกโรค   โรคพิษสุนัขบ้า  เป็นต้น
4.  ค้นหามูลเหตุของโรคระบาดและหาทางป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่ไปยังสัตว์
5. ให้บริการด้านสูติศาสตร์  ให้คำแนะนำเจ้าของสัตว์ในด้านสุขศาสตร์ การให้อาหาร  การผสมพันธุ์และการเลี้ยงดูทั่วๆไป
6. ผ่าซากสัตว์เพื่อชันสูตรโรค
7. อาจเชี่ยวชาญในการรักษาสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น สัตว์เลี้ยง โคนม ม้า สัตว์ปีกหรือหมูหรือเชี่ยวชาญทางสัตว์แพทย์ศาสตร์สาขาใดสาขาหนึ่ง  เช่น ศัลยกรรม หรือรังสีวิทยา เป็นต้น
สภาพการจ้างงาน
ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ ได้รับค่าตอบแทนการทำงานเป็นเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา โดยผู้ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานจะได้รับเงินเดือนในอัตรา ดังนี้
                                             หน่วยงาน
วุฒิการศึกษา                ราชการ              รัฐวิสาหกิจและเอกชน
ปริญญาตรี                       8,190                     12,000 – 15,000
ปริญญาโท                       9,040                     15,000 – 18,000
ปริญญาเอก                    10,600                     18,000 – 25,000
          ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ส่วนใหญ่ ทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง อาจต้องมาทำงาน   วันเสาร์ วันอาทิตย์และวันหยุด นอกจากผลตอบแทนในรูปเงินเดือนแล้วในภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนอาจได้รับผลตอบแทนในรูปอื่น เช่น  ค่ารักษาพยาบาล   เงินสะสม  เงินช่วยเหลือสวัสดิการในรูปต่างๆ  เงินโบนัส  เป็นต้น  สำหรับผู้ที่มีเงินทุนสามารถประกอบธุรกิจส่วนตัว  โดยรายได้ที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับความสามารถ ความอุตสาหะ และทำเลของสถานที่ประกอบธุรกิจ
สภาพการทำงาน
          ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ทำงานในสถานที่ที่เหมือนกับสำนักงานทั่วไป  โดยมีห้องรักษาสัตว์ที่มีเตียงตรวจและอุปกรณ์สำหรับการรักษาหรือบางครั้งต้องออกทำงานนอกสถานที่ในกรณีที่ไม่สามารถนำสัตว์มาที่คลินิกได้ หรือทำงานนอกสถานที่ในกรณีที่ต้องทำงานป้องกันโรคระบาดหรือตรวจเยี่ยมตามบ้านหรือฟาร์มของเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ การตรวจรักษาสัตว์ต้องระมัดระวังสัตว์ที่ดุร้ายหรือกลัวและโกรธ ซึ่งมีโอกาสกัดหรือทำร้ายได้  ผู้ประกอบอาชีพนี้ต้องเข้าใจธรรมชาติของสัตว์แต่ละชนิดเพื่อที่จะได้ทำการตรวจรักษาได้อย่างปลอดภัย
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ 1.  สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาสัตวแพทย์ศาสตร์
2.   มีนิสัยรักสัตว์และรักที่จะประกอบอาชีพนี้
3.   มีทัศนคติที่ดีต่อองค์กรและเพื่อนร่วมงาน
4.   มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง อดทน เพราะในบางครั้งต้องดูแลสัตว์ขนาดใหญ่
5.  ต้องมีความสนใจในวิชาชีววิทยาและสามารถสอบได้คะแนนสูงในวิชานี้
6.  มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานตรวจโรคและให้การรักษาโดยใช้ยาหรือผ่าตัดสัตว์ที่เจ็บป่วย บาดเจ็บหรือต้องการรับการรักษา
7.  มีความละเอียดรอบคอบ ช่างสังเกตสนใจกระตือรือร้นในการ ทำงาน สนใจแสวงหาความรู้ใหม่ๆ
8. มีความซื่อสัตย์ต่ออาชีพ กล้าตัดสินใจ รับผิดชอบในการทำงาน

ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ควรเตรียมความพร้อมดังต่อไปนี้             ต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสาขาวิชาสัตวแพทย์ศาสตร์  หลักสูตรการศึกษา 6 ปี จากสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยโดยศึกษาวิชาทางสัตวแพทย์ เรียนวิชาที่เกี่ยวกับตัวสัตว์เกือบทั้งหมดทั้งกายวิภาคศาสตร์  สรีรวิทยา เกี่ยวกับจุลชีววิทยา วิทยาภูมิคุ้มกัน ปาราสิตวิทยา พยาธิวิทยา อายุรศาสตร์  เภสัชวิทยา ศัลยศาสตร์  เธนุเวชและวิทยาการ     สืบพันธุ์  สัตวแพทยศาสตร์  สาธารณสุขการปฏิบัติทางคลีนิค ทุกรายกลุ่มวิชาจะครอบคลุมในสัตว์เลี้ยง  (สุนัข แมว) สัตว์เศรษฐกิจและสัตว์ป่า
โอกาสในการมีงานทำ
          ความต้องการผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ ขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ  เพราะนอกจากจะประกอบธุรกิจส่วนตัวแล้ว สถานประกอบกิจการภาคเอกชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ และผู้ประกอบกิจการด้าน ปศุสัตว์ ล้วนแต่ต้องพึ่งสัตวแพทย์ในการดูแล และตรวจรักษาทั้งสิ้น  ถ้าปีใดเศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวลดลงจะมีผลกระทบต่อตลาดแรงงานในอาชีพนี้บ้าง ปัจจุบัน ประเทศไทยรณรงค์ด้านการสงวนพันธุ์สัตว์ป่า เช่น ช้าง เสือ   กระทิง จึงมีสัตวแพทย์ประจำโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือสัตว์ป่าที่พลัดหลง หรือบาดเจ็บ ส่วนผู้ประกอบการด้านปศุสัตว์นั้นมีเพิ่มขึ้นเพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ไปจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งจำเป็นจะต้องทำให้สินค้ามีคุณภาพและปลอดจากโรค ความต้องการสัตว์แพทย์จึงยังคงมีอยู่และอาจเพิ่มมากขึ้น ถ้าการส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้น
          อย่างไรก็ตาม มีผู้นิยมเลี้ยงสัตว์ในบ้านเรือนส่วนบุคคลมากขึ้น ความต้องการสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลหรือคลินิก อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกทั้งโอกาสในการประกอบอาชีพส่วนตัวเป็นไปได้ค่อนข้างสูง เพราะผู้เลี้ยงสัตว์มักนำสัตว์เลี้ยงของตนไปคลีนิกมากขึ้น  เนื่องจากต้องการความสะดวกรวดเร็วในการตรวจและรักษา     สัตว์เลี้ยง
แหล่งจ้างงาน
1.  หน่วยงานราชการ ได้แก่ กรมปศุสัตว์  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
2.   หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ องค์การสวนสัตว์
3.  หน่วยงานเอกชน ได้แก่ คลินิกรักษาสัตว์สถานประกอบกิจการเลี้ยงสัตว์  บริษัทยาและอาหารสัตว์
4.  ประกอบธุรกิจส่วนตัว ได้แก่ คลินิกรักษาสัตว์
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
          ผู้ประกอบอาชีพสัตวแพทย์ที่ทำงานจนมีความชำนาญและประสบการณ์จะได้รับการเลื่อนขั้นตำแหน่งไปจนถึงระดับผู้บริหาร  สำหรับสัตวแพทย์ที่ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วก็มีโอกาสในการทำงานเป็นอาจารย์สอนในสถาบันหรือมหาวิทยาลัยทั่วไปที่มีหลักสูตรสัตวแพทย์ ผู้ประกอบอาชีพนี้สามารถประกอบอาชีพอิสระโดยการเปิดคลีนิกรักษาสัตว์ เป็นรายได้หลักหรือรายได้เสริมนอกเหนือจากงานประจำได้เช่นกัน
อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
          นักพยาธิวิทยาทางสัตวแพทย์ศาสตร์  สัตวแพทย์อื่น ๆ  ผู้ช่วยลูกมือสัตวแพทย์

อาชีพสถาปนิก

สถาปนิก (อังกฤษArchitect) คือบุคคลผู้เกี่ยวข้องในการออกแบบ และ วางแผน ในการก่อสร้าง หรือที่เรียกว่างานสถาปัตยกรรม โดยสถาปนิก จะเป็นผู้ที่เข้าใจในมาตรฐานการก่อสร้างของอาคาร เข้าใจถึงหน้าที่ใช้สอยของอาคารนั้น รวมถึงวัสดุที่จะนำมาเป็นส่วนประกอบของสิ่งก่อสร้างนั้น สถาปนิกจำเป็นต้องได้รับการศึกษาทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ และได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม ถึงจะสามารถทำงานในวิชาชีพสถาปนิกได้ ซึ่งคล้ายกับการทำงานในสาขาวิชาชีพอื่น
สถาปก คำเก่าของคำว่าสถาปนิก ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เป็นศัพท์ภาษาสันสกฤต หมายถึง ผู้สร้าง, ผู้ก่อตั้ง ในเอกสารโบราณก่อนสมัยรัตนโกสินทร์เคยปรากฏคำ "สถาบก" หมายถึง การสร้าง หรือผู้สร้าง
รางวัลที่น่ายกย่องของสถาปนิกที่รู้จักในฐานะผู้ก่อสร้างอาคารได้แก่ รางวัลพลิตซ์เกอร์ ซึ่งมักจะถูกเปรียบเทียบเหมือนกับ "รางวัลโนเบลในทางสถาปัตยกรรม"

หน้าที่ของสถาปนิกกับโครงการก่อสร้างในยุคปัจจุบัน[แก้]

ในรูปแบบที่เกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่ สถาปนิกจะทำสัญญากับเจ้าของโครงการ(Owner) โดยรับหน้าที่เป็นผู้ให้บริการวิชาชีพ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการก่อสร้าง ผ่านทางการออกแบบ(Building Design) และการทำแเบบก่อสร้าง(Construction Document) สถาปนิกจะมีที่ปรึกษาผู้ให้คำแนะนำในเรื่องเทคนิคระดับซับซ้อนคือ วิศวกร ซึ่งจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละแขนงเกี่ยวกับการก่อสร้าง
โดยทั่วไปสำหรับโครงการขนาดกลาง วิศวกรเหล่านี้จะประกอบด้วย วิศวกรโครงสร้าง (Structural Engineer) วิศวกรโยธา (Civil Engineer) วิศวกรไฟฟ้า (Electrical Engineer) วิศวกรประปา (Plumbing Engineer) และ วิศวกรเครื่องกล (Mechanical Engineer) นอกจากนี้อาจจะมีที่ปรึกษาอื่นๆที่สำคัญ เช่น มัณฑนากร(Interior Designer) และ ภูมิสถาปนิก (Landscape Architect)เป็นต้น
นักวิชาชีพทั้งหมดนี้จะทำงานร่วมกันเป็นทีม ผ่านการประสานงานของสถาปนิก ซึ่งเป็นผู้นำของทีม (Team Leader)และผู้ติดต่อประสานงานระหว่างทีม(Coordinator)เพราะที่ปรึกษาอื่นๆ จะไม่มีใครเข้าใจภาพรวมของโครงการเท่าสถาปนิก
ด้วยสาเหตุของความเข้าใจในโครงการที่มากกว่าสมาชิกในทีมคนอื่นๆ ทำให้สถาปนิกเป็นผู้ที่ติดต่อกับเจ้าของโดยตรงในการทำโครงการ นักวิชาชีพในทีมคนอื่นๆ ที่ต้องการติดต่อกับเจ้าของมักจะทำผ่านสถาปนิก หรือในบางกรณีสถาปนิกจะไม่อนุญาตให้สมาชิกในทีมคนอื่นๆ ติดต่อกับเจ้าของโดยตรงเลย เพราะจะเป็นการเกิดความสับสนในระบบการประสานงานและปฏิบัติการ
ถ้านักวิชาชีพเหล่านี้ทำสัญญาการว่าจ้างกับสถาปนิก สถาปนิกจะมีสถาณภาพเป็นผู้นำของทีมออกแบบ (Leader) แต่ถ้านักวิชาชีพเหล่านี้ทำสัญญาโดยตรงกับเจ้าของ สถาปนิกจะมีสภาณภาพเป็นผู้ประสานงาน (Coordinator) โดยส่วนใหญ่สถาปนิกจะทำสัญญาว่าจ้างกับนักวิชาชีพเหล่านี้เพื่อจะได้เกิดการควบคุมคุณภาพและสั่งการโครงการได้สะดวก แต่ในบางกรณี สถาปนิกอาจจะต้องการหลีกเลี่ยงการทำสัญญากับนักวิชาชีพเหล่านี้ โดยเฉพาะถ้าเป็นโครงการที่ใหญ่เป็นพิเศษที่สถาปนิกต้องมีความรับผิดชอบสูงมาก อาจเกิดความเสี่ยงต่อการรับผิดชอบความเสียหาย (Liability)มากจนไม่คุ้มกับค่าบริการวิชาชีพที่จะได้รับ สถาปนิกจะแนะนำให้เจ้าของโครงการทำสัญญาโดยตรงกับนักวิชาชีพเหล่านั้น
อีกด้านหนึ่ง เจ้าของโครงการ (Owner) จะทำสัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้าง (Contractor) เพื่อให้ทำการก่อสร้าง ตามแบบก่อสร้าง (Construction Documents)และ รายการประกอบแบบ (Specification) ที่สถาปนิกและทีมผู้ช่วยทั้งหลายได้ทำการออกแบบ

อาชีพพนักงานอัยการ

พนักงานอัยการ

นิยามอาชีพพนักงานอัยการ

          อำนวยความยุติธรรมในสังคม และรักษาผลประโยชน์ของรัฐ โดยในคดีอาญามีฐานะเป็นโจทก์แทนแผ่นดินมีอำนาจและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่นในด้านคดีแพ่ง มีอำนาจและหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่ส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ดำเนินคดีแทนรัฐบาลในศาลทั้งปวง พิจารณารับว่าแก้ต่างให้แก่นิติบุคคล ซึ่งได้มีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้นหรือให้แก่รัฐบาล ซึ่งเป็นโจทก์หรือจำเลยและมิใช่เป็นคดีพิพาทกับรัฐบาลเมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควร และในด้านคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน มีอำนาจหน้าที่ให้บริการ ช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน เช่น การประนอมข้อพิพาท การให้ความช่วยเหลือทางอรรถคดี และการฟ้องคดีแทนราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดที่ไม่อาจฟ้องเองได้เพราะกฎหมายห้าม เป็นต้น รวมถึงการให้ความช่วยเหลือในการรับแก้ต่างให้เจ้าพนักงานผู้ถูกฟ้องทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาในเรื่องการที่ได้กระทำไปตามหน้าที่ หรือรับแก้ต่างให้แก่ราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดในเรื่องการที่ได้กระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งได้สั่งการโดยชอบด้วยกฎหมาย

ลักษณะของงานที่ทำของอาชีพพนักงานอัยการ

          ภารกิจ และหน้าที่หลักของผู้ประกอบอาชีพนี้ สามารถสรุปได้โดยย่อดังนี้
 1. งานอำนวยความยุติธรรมทางอาญา เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลและคานอำนาจการใช้ดุลพินิจทั้งของพนักงาน
สอบสวนและศาลเพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้องชอบธรรม
          ในคดีอาญา อัยการมีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ เช่น ฟ้องคดีต่อศาล ยื่นฟ้องคดีที่ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องไว้แล้วแต่ถอนฟ้องคดีนั้น เว้นเสียแต่คดีซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว ทำการตรวจสอบสำนวนคดีของพนักงานสอบสวนที่ได้สอบสวนผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญาแล้ว กรณีที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องและพนักงานอัยการเห็นชอบด้วย ให้ออกคำสั่งไม่ฟ้องและแจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบ แต่ถ้าไม่เห็นด้วยก็สั่งฟ้องและแจ้งพนักงานสอบสวนให้ส่งตัวผู้ต้องหามาเพื่อฟ้องหรือจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหามาฟ้องคดีต่อศาล เป็นต้น
          ในคดีแพ่งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีแทนรัฐบาลในศาลทั้งปวง หรือในกรณีเทศบาล หรือสุขาภิบาล หรือนิติบุคคล ซึ่งได้มีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้นเป็นโจทก์หรือเป็นจำเลย ซึ่งไม่ใช่เป็นคดีที่พิพาทกับรัฐบาล เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควรจะรับว่าต่างหรือแก้ต่างคดีก็ได้
 2. งานด้านคดีอาญาระหว่างประเทศ ในกรณีคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน และการร่วมมือกับต่างประเทศในการสอบสวนและอื่นๆ
 3. งานด้านรักษาผลประโยชน์ของรัฐ ให้คำแนะนำปรึกษาหารือปัญหาข้อกฎหมาย แก่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การบริหารราชการของหน่วยงานดังกล่าวลุล่วงไปด้วยดี และรับดำเนินการว่าต่างแก้ต่างให้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด รวมถึงการตรวจร่างสัญญาต่างๆ ก่อนลงนาม
 4. งานด้านคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน รับหน้าที่ในคดีที่ราษฎรไม่อาจเป็นโจทก์
ฟ้องร้องคดีได้โดยมีกฎหมายห้ามไว้ เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควรก็จะดำเนินคดีแทนให้ เช่น คดีอุทลุมที่บุตรไม่อาจฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบุพการีได้ เป็นต้น หรือในคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษบุคคลใดโดยลำพัง ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปล่อยผู้นั้น เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควรจะฎีกาก็ได้ หรือในกรณีที่มีการผิดสัญญาประกันจำเลยตามกฎหมาย อัยการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญานั้น และให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย ตลอดจนช่วยทำนิติกรรมสัญญาและประนอมข้อพิพาทให้แก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ
 5. งานตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูง กรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือข้าราชการระดับสูงผู้ใดเมื่อถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนแล้วเห็นว่ามีมูล จะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นงานตามที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญ
 6. งานพิเศษ เช่น งานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ โดยมีโครงการเผยแพร่ความรู้และช่วยเหลือทางกฎหมายให้แก่ประชาชน โครงการสนับสนุนการระงับข้อพิพาททางแพ่งในระดับท้องถิ่นโดยอนุญาตตุลาการ ฝึก
อบรมความรู้กฎหมายเบื้องต้นทางกฎหมายแก่ผู้นำหมู่บ้าน กลุ่มเยาวชน กลุ่มเกษตรกร พัฒนากร ครูและเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่อยู่ในตำบล ช่วยเหลืออรรถคดีแก่ประชาชนที่ยากจนทั้งคดีว่าต่างและแก้ต่าง หรือหากประชาชนมีปัญหาด้านกฎหมาย ก็สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สำนักงานอัยการจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ
สภาพการจ้างงาน
          ผู้ประกอบอาชีพนี้ จะต้องผ่านการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าบรรจุเป็นข้าราชการอัยการเเละมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกำหนด เมื่อได้เข้ารับราชการแล้วจะได้รับเงินเดือนเเละเงินประจำตำเเหน่งตามชั้นเงินเดือนจากชั้นที่ 1 จนถึงชั้นที่ 8 โดยตำเเหน่งสูงสุดคืออัยการสูงสุดจะได้รับเงินเดือนๆ ละ 62,000 บาท และเงินประจำตำแหน่งชั้น 8 เดือนละ 42,500 บาท ลงมาถึงอัยการผู้ช่วยจะได้รับเงินเดือนชั้นที่ 1 โดยไม่มีเงินประจำตำแหน่งในอัตราเดือนละ 14,850 บาท จนกว่าจะเป็นอัยการประจำกองหรืออัยการจังหวัดผู้ช่วย ซึ่งจะได้รับเงินเดือนๆ ละ 21,370 บาท และเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 7,900 บาท
          การพิจารณาเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งพิจารณาจากความสามารถ ความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่และอายุการทำงานของแต่ละบุคคลไป เวลาในการปฏิบัติงานต้องปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างเวลา 08.30 – 16.30 น. ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ หรือสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง
สภาพการทำงาน
          องค์กรอัยการมีฐานะเป็นหน่วยงานราชการอิสระเทียบเท่ากรมที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้ประกอบอาชีพนี้ เป็นข้าราชการอัยการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการอัยการ พ.ศ. 2503 ตามกฎหมายกำหนดให้มีพนักงานอัยการปฏิบัติราชการประจำองค์กร ดังนี้
          ในกรุงเทพมหานคร
 1. สถาบันกฎหมายอาญา
 2. สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ
 3. สำนักงานคณะกรรมการอัยการ
 4. สำนักงานอำนวยการ (งานด้านธุรการ)
 5. สำนักงานคดีแพ่ง
 6. สำนักงานคดีแพ่งกรุงเทพใต้
 7. สำนักคดีแพ่งธนบุรี
 8. สำนักงานคดีภาษีอากร
 9. สำนักงานคดียาเสพติด
 10. สำนักคดีเยาวชนและครอบครัว
 11. สำนักคดีแรงงาน
 12. สำนักงานคดีศาลแขวง
 13. สำนักคดีศาลสูง
 14. สำนักคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร
 15. สำนักคดีอาญา
 16. สำนักคดีอาญากรุงเทพใต้
 17. สำนักคดีอาญาธนบุรี
 18. สำนักคดีอัยการสูงสุด
 19. สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน
 20. สำนักงานต่างประเทศ
 21. สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย
 22. สำนักงานวิชาการ
 23. สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
 24. สำนักงานคดีล้มละลาย
 25. สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
 26. สำนักงานคดีปกครอง
          องค์กรในจังหวัดต่างๆ
 1. สำนักงานอัยการเขต 1 – 9
 2. สำนักอัยการจังหวัด มี 75 สำนักงาน
 3. สำนักงานอัยการประจำศาล อยู่ที่อำเภอ 23 สำนักงาน รับผิดชอบคดีศาลแขวง 21 สำนักงาน รับผิดชอบคดีเยาวชนและครอบครัว 33 สำนักงาน
 4. สำนักงานคดีปกครองเชียงใหม่
 5. สำนักงานคดีปกครองสงขลา
 6. สำนักงานคดีปกครองนครราชสีมา
 7. สำนักงานคดีปกครองขอนแก่น
 8. สำนักงานคดีปกครองพิษณุโลก
 นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ร่วมกับแพทย์นิติเวช พนักงานฝ่ายปกครอง พนักงานสอบสวนออกไปชันสูตรพลิกศพผู้ที่ตายจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน (วิสามัญฆาตกรรม) หรืออยู่ในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน ตามที่กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้เป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการ นอกจากนั้น ยังเข้าร่วมคุ้มครองเด็กซึ่งอยู่ในฐานะผู้เสียหาย พยาน หรือผู้ต้องหา ในการสอบสวนในคดีอาญา ซึ่งมีเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ หรือนักจิตวิทยาเข้าร่วมสอบสวนด้วย โดยมีการผลัดเปลี่ยนเวรกันทั้งในเวลาราชการและนอกราชการ

คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพมีดังต่อไปนี้

 1. จบหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต หรือสอบไล่ได้รับปริญญา หรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศ ซึ่งคณะกรรมการอัยการเทียบว่าไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี
 2. จบตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
 3. ได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายเป็นข้าราชการตุลาการ จ่าศาล รองจ่าศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าพนักงานบังคับคดี พนักงานคุมประพฤติ นายทหารพระธรรมนูญหรือทนายความ หรือได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายอย่างอื่นตามที่คณะกรรมการอัยการกำหนด ทั้งนี้ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี และให้
คณะกรรมการอัยการมีอำนาจออกระเบียบกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพนั้นๆ ด้วย
 4. มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
 5. มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปี
 6. เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญด้วยความบริสุทธิ์ใจ
 7. เป็นสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา
 8. ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
 9. ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
 10. ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งให้พักราชการ หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการหรือตามกฎหมายอื่น
 11. ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ
 12. ไม่เป็นผู้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้ทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
 13. ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือมีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการอัยการ หรือเป็นโรคที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง
 14. เป็นผู้ที่คณะกรรมการแพทย์มีจำนวนไม่น้อยกว่าสามคน ซึ่งคณะกรรมการอัยการจะได้กำหนดได้ตรวจ
ร่างกายและจิตใจแล้ว และคณะกรรมการอัยการได้พิจารณารายงานของแพทย์เห็นว่าสมควรรับสมัครได้

ผู้ที่สนใจในอาชีพนี้ ควรเตรียมความพร้อมดังนี้

          ต้องผ่านการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ในมหาวิทยาลัยที่มีการเปิดสอนคณะนิติศาสตร์ และต้องสอบได้เนติบัณฑิต (นบ.) นอกจากนี้ยังต้องมีคุณสมบัติดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นทุกประการ

โอกาสในการมีงานทำ

          ผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้ได้ต้องผ่านการสอบคัดเลือกและต้องมีคุณสมบัติดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นอาชีพที่ต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้เท่านั้น เมื่อผ่านการคัดเลือกแล้วก็จะได้รับตำแหน่งเป็นอัยการผู้ช่วย คือ อัยการชั้น 1 ก่อนในขั้นต้นทุกคน และจะได้พิจารณาเลื่อนขั้นเป็นอัยการประจำกอง หรืออัยการจังหวัดผู้ช่วย (อัยการชั้น 2) ต่อไป
          เนื่องจากปัจจุบันมีการจัดตั้งศาลยุติธรรมเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับกับคดีที่เกิด เพื่อไม่ให้คดีล้นศาลและเพื่อความรวดเร็วในการพิจารณาคดี ทำให้ยังคงมีความต้องการพนักงานอัยการเพื่อมาทำหน้าที่มากขึ้น เพื่ออำนวยความยุติธรรมและเป็นหลักประกันความเป็นธรรมให้แก่สังคมต่อไป

โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ 

          ผู้ที่เป็นพนักงานอัยการ จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดจากคณะกรรมการอัยการ และเมื่อรับราชการในตำแหน่งอัยการไม่น้อยกว่า 2 ปี สามารถสอบคัดเลือกเป็นผู้พิพากษาต่อไปได้ พนักงานอัยการเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ความก้าวหน้าในอาชีพย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถและความซื่อสัตย์ ซื่อตรง หากปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตแล้วย่อมมีความก้าวหน้าในอาชีพได้อย่างแน่นอน

อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง

          นิติกร ผู้พิพากษา พนักงานสอบสวน อาจารย์พิเศษสอนวิชานิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน เจ้าของสำนักงานกฎหมาย หรือทนายความผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายในหน่วยงานกฎหมายระหว่างประเทศ

อาชีพมัคคุเทศก์

มัคคุเทศก์ (หรือ ไกด์ท่องเที่ยว) เป็นผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ ข้อมูล ความเข้าใจทางด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และเหตุการณ์ร่วมสมัยต่างๆแก่บุคคที่อยู่ในกลุ่มท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวเอกเทศ หรือนักท่องเที่ยวในกรณีทัศนศึกษาที่สถานีทางศาสนาหรือประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ และสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจอื่นๆ[1] มัคคุเทศก์ส่วนใหญ่จะได้รับการรับรองจากองค์กรที่เกี่ยวข้องก่อนเข้าทำงาน ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศและภูมิภาค
ตามสมาคมมาตรฐานยุโรป คำจำกัดความของคำว่า "มัคคุเทศก์" คือ:
บุคคลที่นำพาซึ่งผู้เยี่ยมชมในภาษาที่ผู้เยี่ยมชมเลือกและอธิบายซึ่งวัฒนธรรมและมรดกทางธรรมชาติของพื้นที่นั้นๆ โดยบุคคลนั้นมักมีหนังสือรับรองคุณวัฒิที่ออกให้โดยหรือยอมรับโดยทางการ[ต้องการอ้างอิง]
การรองรับคุณวุฒิการนำเที่ยวถือเป็นสิ่งจำเพาะของแต่ละประเทศและในแต่ละเหตุการณ์ ในบางกรณี การรับรองนี้อยู่ในระดับประเทศ ในบางกรณี อยู่ในระดับภูมิภาค ในทุกกรณี การนำเที่ยวมักขึ้นอยู่กับหลักจริยธรรมและศีลธรรมในการศึกษาและการฝึกงานของประเทศนั้นๆ ศิลปะการนำเที่ยวถือเป็นงานฝีมือ ต้องมีความสามารถในการรับรู้และเลือกบอกข้อมูลให้แต่ละกลุ่มผู้ฟัง ความสามารถในการส่งต่อข้อมูลโดยใช้วิธีที่ง่ายและตรงไปตรงมา ความสามารถที่จะให้ผู้มาเที่ยวเห็นและรับรู้ด้วยตัวเองในเวลาเดียวกัน

อาชีพนักการทูต

นักการทูต

นักการทูต : diplomat
            เป็นบุคคลที่รัฐแต่งตั้งให้ดำเนินกิจการทางการทูตกับรัฐอื่นหรือองค์การระหว่างประเทศ หน้าที่หลักของนักการทูต คือ การเป็นผู้แทนเจรจาและปกป้องผลกระโยชน์ ตลอดจนปกป้องประเทศนั้น ๆ เช่นเดียวกับการสนับสนุนข้อมูลและความสัมพันธ์ฉันมิตร นักการทูตส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐศาสตร์เศรษฐศาสตร์ หรือกฎหมาย

“ ต้องเรียนอะไร 
·       คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์ เอกการทูต
“ เรียนอย่างไร เน้นอะไร 
·       เรียนด้านการทูต สิ่งที่สำคัญคือ ต้องมีพื้นฐานอังกฤษ ยิ่งมีความรู้มากยิ่งดี และการทูตไม่ใช่ว่าจะเน้นด้านภาษาอย่างเดียว แต่เราต้องเรียนนโยบาย การเมืององค์กร ของประเทศต่าง ๆด้วย ซึ่งก็คือต้องศึกษาเกี่ยวกับการเมืองของต่างประเทศ ถ้าจะให้ดีควรเรียนภาษาอื่นเพิ่มด้วย มีประวัติศาสตร์ แต่เป็นประวัติศาสตร์เหตุการณ์โลกและการปกครองเสียมากกว่า

  • สรุป สิ่งที่เน้นในการเรียนการทูต คือ ภาษา และ การเมืองระหว่างประเทศ ประวัติศาสตร์การปกครอง แล้วก็ควบคู่กับกฎหมาย แต่กฎหมายไม่เยอะมากครับ

สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศออสเตรเลีย

นายชัยยงค์ สัจจิพานนท์ เอกอัครราชทูตไทย ประจำสาธารณรัฐเกาหลีใต้

อาชีพทนายความ

ทนายความ
 กลุ่มที่ 5 บุคลิกภาพแบบกล้าคิดกล้าทำ (Enterprising)
ชื่ออาชีพ
 ทนายความ Lawyers
รหัสอาชีพ
 1-21.10(TSCO) 2421 (ISCO)
นิยามอาชีพ
 ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ ได้แก่ ผู้ทำงานเกี่ยวกับกฎหมาย ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย และให้บริการทางกฎหมายอื่นๆ รวมถึงการปฏิบัติงานทั่วๆ ไปเกี่ยวกับกฎหมาย เช่น การให้คำปรึกษาทางกฎหมาย การจัดทำเอกสารเกี่ยวกับกฎหมาย การว่าความคดีอาญา และคดีแพ่ง ให้คำแนะนำแก่ลูกความเกี่ยวกับปัญหาบุคคล และธุรกิจในแง่ของกฎหมาย และทำแทนลูกความในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับกฎหมาย ดำเนินการฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลในนามของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง ทนายความเป็นอาชีพหนึ่งของนักกฎหมาย ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการยุติธรรมอันประกอบด้วย ศาล อัยการ ตำรวจ และราชทัณฑ์
ลักษณะของงานที่ทำ
 ปฏิบัติงานทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมาย เช่น ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย จัดทำเอกสารเกี่ยวกับกฎหมาย
ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย และดำเนินการแทนคู่ความทั้งทางอาญา และแพ่ง
ตรวจสอบเรื่องราวต่างๆ และค้นตัวบทกฎหมายที่จะนำมาใช้โดยการศึกษาประมวลกฎหมาย พระราชกฤษฎีกา เทศบัญญัติ คำพิพากษาของศาลสูงที่มีมาแล้ว และกฎข้อ-บังคับที่ตราขึ้นไว้
ให้คำแนะนำแก่ลูกความถึงสิทธิ และหน้าที่ตามกฎหมาย
ทำการแทนลูกความในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับกฎหมาย จัดทำเอกสารเกี่ยวกับกฎหมาย และค้นหาบรรพต่างๆ ในประมวลกฎหมาย
ว่าความ และดำเนินกระบวนการพิจารณาใดๆ ในศาลแทนคู่ความทั้งในคดีแพ่ง และคดีอาญา มีบทบาทในการสร้าง และรักษาความเป็นธรรมให้กับสังคม
มีบทบาทในการคุ้มครอง ดูแลรักษาผลประโยชน์ของบุคคล และองค์กรธุรกิจเอกชนต่าง ๆ
มีบทบาทในการให้คำปรึกษาแนะนำ ในการดำเนินการต่างๆ ให้ถูกต้องตามระเบียบ และกฎหมาย
มีบทบาทเป็นคนกลางเพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้งแห่งผลประโยชน์ด้วย
อาจเชี่ยวชาญในงานกฎหมายสาขาใดสาขาหนึ่งโดยเฉพาะ
อาจเป็นทนายความ หรือที่ปรึกษากฎหมายประจำองค์กร บรรษัท ห้างหุ้นส่วน บริษัท นิติบุคคล คณะบุคคล หรือเอกชน
สภาพการจ้างงาน
 อาชีพทนายความเป็นอาชีพที่มีคนนิยมทำกันมาก เพราะเป็นอาชีพที่สามารถทำรายได้ดี และเป็นอาชีพที่มีเกียรติ โดยผู้ที่เป็นทนายความสามารถทำงานมีเงินเดือนประจำ โดยมีค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนตั้งแต่ 8,500-10,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับความสามารถประสบการณ์ และประเภทของหน่วยงานที่ทำงาน หรือประกอบอาชีพทนายความอิสระรับว่าความทั่วไป โดยอาจได้รับค่าตอบแทนจากการว่าความ ร้อยละ 10 - 20 ของทุนทรัพย์ในคดีนั้นๆ หรืออาจจะได้รับค่าตอบแทนตามแต่จะตกลงกับลูกความ ซึ่งอาจจะได้รับค่าว่าความ 20,000-100,000 บาทขึ้นไปแล้วแต่งานที่รับ และขนาดของทุน-ทรัพย์ในแต่ละคดี
สภาพการทำงาน
 ทำงานในสำนักงานมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายเช่นสำนักงานทั่วไป มีอุปกรณ์ช่วยในการจัดการงานเอกสาร เช่น เครื่องพิมพ์ดีด หรือคอมพิวเตอร์ บางครั้งต้องออกไปติดต่อประสานงานนอก สำนักงาน เช่น ศาล สถานีตำรวจ สถานที่อื่นๆ เพื่อปฏิบัติภาระกิจทนายความตามที่ได้รับมอบหมาย ส่วนใหญ่ทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง แต่การทำงานล่วงเวลาเป็นเรื่องปกติในอาชีพนี้ อาจจะต้องมาทำงานในวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุด
การทำงานของทนายความ เป็นงานที่ต้องมีผู้ได้ประโยชน์ และผู้เสียประโยชน์ อาชีพทนายความเป็นอาชีพที่ค่อนข้างเสี่ยงอันตรายอันเนื่องมาจากลักษณะงาน การฟ้องร้องระหว่างคู่คดีอาจสร้างความไม่พอใจให้อีกฝ่าย หรืองานในหน้าที่อาจจะทำให้ผู้อื่นเสียผลประโยชน์ ทำให้เกิดความโกรธแค้น และอาจถึงขั้นทำร้ายร่างกายและชีวิตได้ ผู้เป็นทนายความควรที่จะจัดให้เกิดความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย มีความ ซื่อสัตย์สุจริตในหน้าที่ไม่ใช้ความรู้ในอาชีพเอาเปรียบ หรือทำให้ผู้อื่นเสียหาย
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
 ผู้สนใจจะประกอบอาชีพนี้จะต้องเป็นผู้ที่มีใจรักในอาชีพนี้เป็นพื้นฐานเพราะงานว่าความเป็นงานที่ต้องมีความเสียสละ ทุ่มเท ใฝ่หาความรู้และมีวาทศิลป์ ผู้ที่ประสงค์จะประกอบอาชีพทนายความจะต้องมี คุณสมบัติดังต่อไปนี้
1. สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์
2. ต้องขอจดทะเบียน และรับใบอนุญาตเป็นทนายความจากสภาทนายความ
3. มีสัญชาติไทย
4. อายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ ในวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียน และรับในอนุญาต
5. ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียบกพร่องในศิลธรรมอันดี และไม่เป็นผู้ได้กระทำการใด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริต
6. ไม่อยู่ในระหว่างต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
7 ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ในคดีที่คณะกรรมการเห็นว่าจะ นำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
8. ไม่เป็นบุคคลผู้ต้องพิพากษาถึงที่สุดให้ล้มละลาย
9. ไม่เป็นโรคติดต่อซึ่งเป็นที่รังเกียจของสังคม
10. ไม่เป็นผู้มีกายพิการ หรือจิตบกพร่องอันเป็นเหตุให้เป็นผู้หย่อนสมรรถภาพในการประกอบอาชีพ
11. ไม่เป็นข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีเงินเดือน และตำแหน่งประจำเว้นแต่ ข้าราชการการเมือง
12. ต้องซื่อตรงต่อลูกความ ผู้ร่วมงานอำนวยการความยุติธรรม ชุมชน ผู้ร่วมสำนักงาน และตนเอง

ผู้ที่สนใจประกอบอาชีพทนายความ ควรเตรียมความพร้อมดังต่อไปนี้ :
 มีความสนใจในด้านกฎหมาย กระบวนการยุติ-ธรรม และต้องชอบที่จะท่องจำเพราะวิชานิติศาสตร์เป็นการเรียนที่ต้องท่องจำมาก เช่น กฎระเบียบ มาตราต่างๆ เป็นต้น
ผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า ต้องสอบเข้ารับการคัดเลือก หรือเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาคณะนิติศาสตร์ หลักสูตร 4 ปี สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาตรีทางนิติศาสตร์ หรือประกาศนียบัตรในวิชานิติศาสตร์ ซึ่งเทียบได้ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี จากสถาบันการศึกษาซึ่ง สภาทนายความเห็นว่าสถาบันนั้นมีมาตรฐานการศึกษาที่ผู้ได้รับปริญญาตรี หรือประกาศนียบัตรควรเป็นทนายความได้ และเป็นสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา
เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือเทียบเท่าต้องเข้ารับการอบรมจากสภาทนายความ โดยอบรมภาคทฤษฎีหลักสูตร 6 เดือน และอบรมภาคปฏิบัติ หลักสูตร 6 เดือน จึงสมัครเข้าสอบขอ ใบอนุญาตว่าความผ่านการทดสอบจะได้รับใบอนุญาตว่าความทั่วราชอาณาจักรจากสภาทนายความ
โอกาสในการมีงานทำ
 อาชีพทนายความ ถือเป็นอาชีพที่สำคัญอีกอาชีพหนึ่ง ซึ่งจะมาเกี่ยวข้องกับธุรกิจ และบุคคลเพราะอาชีพนี้จะมีความชำนาญทางกฎหมาย ความต้องการของอาชีพนี้มีสูงขึ้นเรื่อยๆโดยดูได้จากคดีที่เกิดขึ้นที่กรมตำรวจ ล้วนแต่ต้องใช้ทนายความเข้ามาช่วยในคดีทั้งสิ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทนายความมีคดีว่าความมากขึ้นเนื่องจากจะมีคดีฟ้องร้องในเรื่องการค้างชำระหนี้มากขึ้นแต่รายได้จาก การว่าความจะไม่ค่อยมากนักเนื่องจากฝ่ายจำเลยไม่สามารถชำระค่าเสียหายได้ จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจอย่างไร ความต้องการแรงงานในอาชีพมีอยู่ตลอด ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความชำนาญความเก่ง และชื่อเสียงของทนายความแต่ละคนด้วย นอกจากนี้ทนายความอิสระบางคนอาจจะรับทำงานสืบสวนให้บุคคลที่ต้องการให้สืบสวนหรือติดตามสิ่งของ หรือบุคคลที่ต้องการค้นหา
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
 อาชีพทนายความนี้ นอกจากจะประกอบอาชีพเป็นทนายความแล้วยังสามารถเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของหน่วยงาน เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของหน่วยงาน เป็นพนักงานอัยการ และก้าวไปสู่การเป็นผู้พิพากษาก็ได้ และนอกจากนี้อาชีพทนายความเป็นอาชีพที่มีความชำนาญทางกฎหมายเป็นพิเศษ จึงเป็นอาชีพหนึ่งที่สามารถนำความรู้ไปปรับใช้กับอาชีพอื่นได้มากมาย เช่น นักการเมือง ทหารตำรวจ เจ้าหน้าที่เร่งรัดหนี้สิน เจ้าหน้าที่การเงิน หรือครู อาจารย์เป็นต้น
ทนายความที่มีความสามารถ และมีความรู้ทางกฎหมายระหว่างประเทศอย่างดี อาจได้รับการว่าจ้างให้เป็นทนายความว่าความในต่างประเทศ หรืออาจเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการเจรจาทางด้านกฎหมาย หรือสิทธิประโยชน์ของประเทศ
อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
 ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าสินเชื่อ เจ้าหน้าเร่งรัดหนี้ นักสืบ

อาชีพพิพากษา

ผู้พิพากษา

นิยามอาชีพ
          พิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ในศาล       ยุติธรรม เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ใช้ดุลยพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานและทำคำสั่งหรือคำพิพากษาในคดีแพ่งและคดีอาญาปฏิบัติหน้าที่ในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา
ลักษณะของงานที่ทำ
          ตรวจคำคู่ความซึ่งยื่นต่อศาลเพื่อสั่งรับหรือไม่รับหรือให้ทำใหม่หรือให้แก้ไขเพิ่มเติมควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาคดี ออกข้อกำหนดเพื่อรักษาความ      เรียบร้อยในบริเวณศาลและเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยเที่ยงธรรม  และ    รวดเร็ว  ออกหมายเรียก ออกหมายอาญา ออกหมายสั่งให้ส่งคนมาจาก หรือไปยังจังหวัดอื่นหรือออกคำสั่งใด ๆ  ไต่สวน  และวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องหรือคำขอไต่สวนมูลฟ้องในคดีอาญาไต่สวนการชันสูตรพลิกศพ  ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของ     เจ้าพนักงานนั่งพิจารณาคดีและควบคุมการนำสืบพยานหลักฐานของคู่ความ ตรวจบุคคล วัตถุสถานที่หรือตั้งผู้เชี่ยวชาญใช้ดุลยพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงพิพากษาชี้ขาดตัดสินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาโดยยุติธรรมตามกฎหมาย บังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษา ทำรายงานการคดีและกิจการของศาลส่งตามระเบียบ ระมัดระวังการใช้ระเบียบวิธีการต่างๆ ที่กำหนดขึ้นโดยกฎหมายหรือโดยประการอื่น  ให้เป็นไปโดยถูกต้องเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเสร็จเด็ดขาดไปโดยเร็วอาจมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่างประเภทกันตามประเภทของศาล
สภาพการจ้างงาน           การบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการให้ผู้สอบคัดเลือกที่ได้คะแนนสูงได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาก่อนผู้ได้รับคะแนนต่ำลงมาตามลำดับแห่งบัญชีสอบคัดเลือก
          ผู้ประกอบอาชีพผู้พิพากษาจะมีบัญชีอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ข้าราชการตุลาการแตกต่างตามประเภทศาลและตำแหน่งผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาจะมีอัตราเงินเดือน 14,850 - 16,020 บาท
          ผู้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาประจำศาลถึงอธิบดีผู้พิพากษา (ศาลชั้นต้น) จะมีอัตราเงินเดือน 21,800 – 57,190 บาท และมีเงินประจำตำแหน่งแตกต่างกันไปผู้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาคถึงประธานศาลอุทธรณ์  ผู้พิพากษา     ศาลฎีกาถึงรองประธานศาลฎีกาจะมีอัตราเงินเดือน 57,190 - 62,000 บาท และมีเงินประจำตำแหน่งแตกต่างกันไป
          ผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาจะมีอัตราเงินเดือน  64,000  บาท และมีเงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท ทำงาน  40  ชั่วโมงต่อสัปดาห์  อาจจะต้องเข้าเวรใน วันเสาร์ วันอาทิตย์และวันหยุด เพื่อทำหน้าที่ลงนามคำสั่งในหมายศาล  ในกรณีที่ต้องดำเนินทันทีไม่สามารถรอจนถึงวันทำการได้
สภาพการทำงาน
          ผู้พิพากษามีห้องทำงานที่มีสภาพเหมือนห้องทำงานทั่วไปและเมื่อต้องทำหน้าที่ตัดสินคดีความ จะต้องนั่งบังลังก์ปฏิบัติหน้าที่พิพากษาเป็นประธานในห้อง  ตัดสินคดีความอาชีพผู้พิพากษา  อาจจะต้องปฏิบัติงานประจำศาลในต่างจังหวัด   โดยเฉลี่ยจะปฏิบัติหน้าที่ประมาณ 3 - 4 ปีในแต่ละจังหวัด ซึ่งมีบ้านพักผู้พิพากษาประจำในทุกจังหวัดหรืออาจจะปฏิบัติหน้าที่ประจำศาลในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการประกาศของคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
ผู้พิพากษา ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
- สัญชาติไทยโดยกำเนิด 
- ไม่เป็นผู้ถูกลงโทษไล่ออก  ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
-  อายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบรูณ์
- เป็นนิติศาสตร์บัณฑิต หรือสอบไล่ได้ปริญญาหรือ
- ประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศซึ่ง ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับเนติบัณฑิตยสภาจากสำนักเนติบัณฑิตยสภา
ผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้ ควรเตรียมความพร้อมดังต่อไปนี้คือ  :  การดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 นั้น บุคคลผู้ประสงค์จะเข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษามีได้  3 ทางคือ
1. สมัครสอบคัดเลือก  ต้องอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์
2. สมัครทดสอบความรู้  ต้องอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์
3. สมัครเข้ารับการคัดเลือกพิเศษต้องอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์
          ผู้ที่จะเข้าเป็นผู้พิพากษาโดย 3 ทางดังกล่าวข้างต้น  ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 26  กำหนดว่าต้องมีคุณสมบัติ   และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย  เช่น ต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด  ไม่เป็น ผู้ถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ รัฐวิสาหกิจ  หรือหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ  เป็นต้น  และสำหรับผู้สอบคัดเลือกตามข้อ1 ต้องมีคุณวุฒิและได้ประกอบ   วิชาชีพทางกฎหมาย ดังต่อไปนี้
1. เป็นนิติศาสตร์บัณฑิตหรือสอบไล่ได้ปริญญาหรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศ ซึ่ง ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี
2. สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่ง   เนติบัณฑิตยสภา
3. ได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายเป็นจ่าศาล รองจ่าศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
          เจ้าพนักงานบังคับคดี  หรือพนักงานคุมความประพฤติของศาลยุติธรรม  พนักงานอัยการ นายทหารเหล่าพระธรรมนูญ ทนายความ  หรือประกอบวิชาชีพอย่างอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกฎหมาย ตามที่ ก.ต. กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองปีทั้งนี้ให้   ก.ต. มีอำนาจออกระเบียบกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพนั้น ๆ ด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสมัครสอบคัดเลือก ให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.ต. กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาล    ยุติธรรม มาตรา 27)
ผู้สมัครทดสอบความรู้ตามข้อ  2  ต้องมีคุณวุฒิและได้ประกอบวิชาชีพ         ดังต่อไปนี้
1. สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่ง เนติบัณฑิตยสภา
2. มีคุณวุฒิอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
          ก. สอบไล่ได้ปริญญาหรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศ   โดยมีหลักสูตรเดียวไม่น้อยกว่าสามปี  ซึ่ง ก.ต.เทียบได้ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือสอบได้ปริญญาเอกทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่ง ก.ต. รับรอง
          ข. สอบไล่ได้ปริญญาหรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศ   โดยมีหลักสูตรเดียวไม่น้อยกว่าสองปีหรือหลายหลักสูตรรวมกันไม่น้อยกว่าสองปี  ซึ่ง ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีและได้ประกอบวิชาชีพตามที่ระบุไว้ตามมาตรา 27 (3) (ประกอบวิชาชีพเป็นจ่าศาล พนักงานอัยการ ฯลฯ เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี)
          ค. สอบไล่ได้ปริญญาโททางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย   ซึ่ง  ก.ต. รับรองและได้ประกอบวิชาชีพตามที่ระบุไว้ในมาตรา 27 (3) เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
          ง. เป็นนิติศาสตร์บัณฑิตชั้นเกียรตินิยมและได้ประกอบวิชาชีพเป็นอาจารย์ในคณะนิติศาสตรในมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี
          จ.  เป็นนิติศาสตร์บัณฑิตและเป็นข้าราชการศาลยุติธรรมที่ได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายในตำแหน่งตามที่ ก.ต. กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกปีและเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมรับรองว่ามีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความรู้ความสามารถดี และมีความประพฤติดีเป็นที่ไว้วางใจว่าจะปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการตุลาการได้
          ฉ. สอบไล่ได้ปริญญาโทหรือปริญญาเอกในสาขาวิชาที่ ก.ต. กำหนดและเป็นนิติศาสตร์บัณฑิตและได้ประกอบวิชาชีพตามที่ระบุไว้ในมาตรา   27 (3)  หรือได้ประกอบวิชาชีพตามที่ ก.ต. กำหนดเป็นเวลาไม่น้อย  กว่าสามปี
          ญ.  สอบไล่ได้ปริญญาตรีหรือที่ ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีในสาขาวิชาที่ ก.ต.กำหนดและได้ประกอบวิชาชีพตามที่  ก.ต. กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปีจนมีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพนั้นและเป็นนิติศาสตร์บัณฑิตให้ ก.ต. มีอำนาจออกระเบียบกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพตาม (2) (จ) (ฉ) และ (ช) ด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสมัครทดสอบความรู้ให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.ต.กำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (พระราชบัญญัติระเบียบ  ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 28) ส่วนผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกพิเศษ ตามข้อ 3 ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
          1. มีคุณวุฒิอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้  
                    ก. เป็น หรือเคยเป็นศาสตราจารย์หรือ รองศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ
                    ข. เป็นหรือเคยเป็นอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ  เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี
                    ค. เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญหรือข้าราชการประเภทอื่นในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกอง  หรือเทียบเท่าขึ้นไป
                    ง. เป็นหรือเคยเป็นทนายความมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี
          2. สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่ง เนติบัณฑิตยสภา
          3. เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ดีเด่นในสาขาวิชากฎหมายตามที่ ก.ต.กำหนด
          4. เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต มีบุคลิกภาพ มีความประพฤติและทัศนคติเหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการตุลาการ
 หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกพิเศษให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.ต. กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา  (พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 29)
โอกาสในการมีงานทำ
          ตำแหน่งผู้พิพากษาถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ เป็นงานที่เกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ ทรัพย์สิน และชีวิตของประชาชนพลเมือง  และทำงานใน   พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ มีบัลลังก์นั่งสูงกว่าข้าราชการธรรมดา    แม้ปัจจุบันนี้ความคิดดังกล่าวจะลดน้อยลงเนื่องจากจำนวนผู้พิพากษามากขึ้น  อีกทั้งฐานะในทางสังคมและเกียรติภูมิของข้าราชการฝ่ายอื่น  ตลอดจนพ่อค้านักธุรกิจสูงขึ้น            แต่ตำแหน่งผู้พิพากษาก็ยังคงมีความสำคัญอยู่   เพราะฉะนั้นผู้พิพากษาจึงต้องดำรงตนให้น่าเชื่อถือ  ดังนั้นกิจการบางอย่างซึ่งขัดกับงานในตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือทำให้เป็นที่ระแวงสงสัยในความเป็นกลางหรือความเป็นธรรม  เช่น รับปรึกษาคดีให้บุคคลทั่วไปหรือรับทำงานนอกเวลาหารายได้พิเศษเลี้ยงครอบครัว  แม้จะเป็นงานสุจริตกฎหมายก็ห้ามไว้มิให้กระทำ  เพราะการกระทำเช่นนั้นอาจกระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษา
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
          ผู้ประกอบอาชีพนี้ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายเมื่อมีความชำนาญและ   ประสบการณ์จะสามารถได้รับการเลื่อนขั้น  ตำแหน่งตามสายงานไปได้จนถึงตำแหน่งบริหารของข้าราชการตุลาการประธานศาลฎีกา การประกอบการอื่นเพื่อหารายได้พิเศษแม้จะเป็นงานสุจริตกฎหมายก็ห้ามไว้มิให้กระทำเนื่องจากผู้พิพากษาต้องดำรงตนให้น่าเชื่อถือ ไม่ควรทำให้เป็นที่ระแวงสงสัยในความเป็นกลางหรือความเป็นธรรมและสำหรับอาชีพนี้อัตราเงินเดือนจัดได้ว่าสูงกว่าข้าราชการสังกัดอื่นๆ ทั่วไป  ซึ่งเป็นอัตราเงินเดือนที่ปรับใหม่ให้เหมาะสมกับภาวะสังคม
อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
ทนายความ ที่ปรึกษาทางกฏหมาย  นิติกร
อาจารย์มหาวิทยาลัย