วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

อาชีพพนักงานอัยการ

พนักงานอัยการ

นิยามอาชีพพนักงานอัยการ

          อำนวยความยุติธรรมในสังคม และรักษาผลประโยชน์ของรัฐ โดยในคดีอาญามีฐานะเป็นโจทก์แทนแผ่นดินมีอำนาจและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่นในด้านคดีแพ่ง มีอำนาจและหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่ส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ดำเนินคดีแทนรัฐบาลในศาลทั้งปวง พิจารณารับว่าแก้ต่างให้แก่นิติบุคคล ซึ่งได้มีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้นหรือให้แก่รัฐบาล ซึ่งเป็นโจทก์หรือจำเลยและมิใช่เป็นคดีพิพาทกับรัฐบาลเมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควร และในด้านคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน มีอำนาจหน้าที่ให้บริการ ช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน เช่น การประนอมข้อพิพาท การให้ความช่วยเหลือทางอรรถคดี และการฟ้องคดีแทนราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดที่ไม่อาจฟ้องเองได้เพราะกฎหมายห้าม เป็นต้น รวมถึงการให้ความช่วยเหลือในการรับแก้ต่างให้เจ้าพนักงานผู้ถูกฟ้องทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาในเรื่องการที่ได้กระทำไปตามหน้าที่ หรือรับแก้ต่างให้แก่ราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดในเรื่องการที่ได้กระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งได้สั่งการโดยชอบด้วยกฎหมาย

ลักษณะของงานที่ทำของอาชีพพนักงานอัยการ

          ภารกิจ และหน้าที่หลักของผู้ประกอบอาชีพนี้ สามารถสรุปได้โดยย่อดังนี้
 1. งานอำนวยความยุติธรรมทางอาญา เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลและคานอำนาจการใช้ดุลพินิจทั้งของพนักงาน
สอบสวนและศาลเพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้องชอบธรรม
          ในคดีอาญา อัยการมีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ เช่น ฟ้องคดีต่อศาล ยื่นฟ้องคดีที่ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องไว้แล้วแต่ถอนฟ้องคดีนั้น เว้นเสียแต่คดีซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว ทำการตรวจสอบสำนวนคดีของพนักงานสอบสวนที่ได้สอบสวนผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญาแล้ว กรณีที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องและพนักงานอัยการเห็นชอบด้วย ให้ออกคำสั่งไม่ฟ้องและแจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบ แต่ถ้าไม่เห็นด้วยก็สั่งฟ้องและแจ้งพนักงานสอบสวนให้ส่งตัวผู้ต้องหามาเพื่อฟ้องหรือจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหามาฟ้องคดีต่อศาล เป็นต้น
          ในคดีแพ่งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีแทนรัฐบาลในศาลทั้งปวง หรือในกรณีเทศบาล หรือสุขาภิบาล หรือนิติบุคคล ซึ่งได้มีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้นเป็นโจทก์หรือเป็นจำเลย ซึ่งไม่ใช่เป็นคดีที่พิพาทกับรัฐบาล เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควรจะรับว่าต่างหรือแก้ต่างคดีก็ได้
 2. งานด้านคดีอาญาระหว่างประเทศ ในกรณีคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน และการร่วมมือกับต่างประเทศในการสอบสวนและอื่นๆ
 3. งานด้านรักษาผลประโยชน์ของรัฐ ให้คำแนะนำปรึกษาหารือปัญหาข้อกฎหมาย แก่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การบริหารราชการของหน่วยงานดังกล่าวลุล่วงไปด้วยดี และรับดำเนินการว่าต่างแก้ต่างให้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด รวมถึงการตรวจร่างสัญญาต่างๆ ก่อนลงนาม
 4. งานด้านคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน รับหน้าที่ในคดีที่ราษฎรไม่อาจเป็นโจทก์
ฟ้องร้องคดีได้โดยมีกฎหมายห้ามไว้ เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควรก็จะดำเนินคดีแทนให้ เช่น คดีอุทลุมที่บุตรไม่อาจฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบุพการีได้ เป็นต้น หรือในคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษบุคคลใดโดยลำพัง ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปล่อยผู้นั้น เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควรจะฎีกาก็ได้ หรือในกรณีที่มีการผิดสัญญาประกันจำเลยตามกฎหมาย อัยการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญานั้น และให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย ตลอดจนช่วยทำนิติกรรมสัญญาและประนอมข้อพิพาทให้แก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ
 5. งานตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูง กรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือข้าราชการระดับสูงผู้ใดเมื่อถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนแล้วเห็นว่ามีมูล จะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นงานตามที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญ
 6. งานพิเศษ เช่น งานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ โดยมีโครงการเผยแพร่ความรู้และช่วยเหลือทางกฎหมายให้แก่ประชาชน โครงการสนับสนุนการระงับข้อพิพาททางแพ่งในระดับท้องถิ่นโดยอนุญาตตุลาการ ฝึก
อบรมความรู้กฎหมายเบื้องต้นทางกฎหมายแก่ผู้นำหมู่บ้าน กลุ่มเยาวชน กลุ่มเกษตรกร พัฒนากร ครูและเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่อยู่ในตำบล ช่วยเหลืออรรถคดีแก่ประชาชนที่ยากจนทั้งคดีว่าต่างและแก้ต่าง หรือหากประชาชนมีปัญหาด้านกฎหมาย ก็สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สำนักงานอัยการจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ
สภาพการจ้างงาน
          ผู้ประกอบอาชีพนี้ จะต้องผ่านการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าบรรจุเป็นข้าราชการอัยการเเละมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกำหนด เมื่อได้เข้ารับราชการแล้วจะได้รับเงินเดือนเเละเงินประจำตำเเหน่งตามชั้นเงินเดือนจากชั้นที่ 1 จนถึงชั้นที่ 8 โดยตำเเหน่งสูงสุดคืออัยการสูงสุดจะได้รับเงินเดือนๆ ละ 62,000 บาท และเงินประจำตำแหน่งชั้น 8 เดือนละ 42,500 บาท ลงมาถึงอัยการผู้ช่วยจะได้รับเงินเดือนชั้นที่ 1 โดยไม่มีเงินประจำตำแหน่งในอัตราเดือนละ 14,850 บาท จนกว่าจะเป็นอัยการประจำกองหรืออัยการจังหวัดผู้ช่วย ซึ่งจะได้รับเงินเดือนๆ ละ 21,370 บาท และเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 7,900 บาท
          การพิจารณาเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งพิจารณาจากความสามารถ ความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่และอายุการทำงานของแต่ละบุคคลไป เวลาในการปฏิบัติงานต้องปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างเวลา 08.30 – 16.30 น. ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ หรือสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง
สภาพการทำงาน
          องค์กรอัยการมีฐานะเป็นหน่วยงานราชการอิสระเทียบเท่ากรมที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้ประกอบอาชีพนี้ เป็นข้าราชการอัยการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการอัยการ พ.ศ. 2503 ตามกฎหมายกำหนดให้มีพนักงานอัยการปฏิบัติราชการประจำองค์กร ดังนี้
          ในกรุงเทพมหานคร
 1. สถาบันกฎหมายอาญา
 2. สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ
 3. สำนักงานคณะกรรมการอัยการ
 4. สำนักงานอำนวยการ (งานด้านธุรการ)
 5. สำนักงานคดีแพ่ง
 6. สำนักงานคดีแพ่งกรุงเทพใต้
 7. สำนักคดีแพ่งธนบุรี
 8. สำนักงานคดีภาษีอากร
 9. สำนักงานคดียาเสพติด
 10. สำนักคดีเยาวชนและครอบครัว
 11. สำนักคดีแรงงาน
 12. สำนักงานคดีศาลแขวง
 13. สำนักคดีศาลสูง
 14. สำนักคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร
 15. สำนักคดีอาญา
 16. สำนักคดีอาญากรุงเทพใต้
 17. สำนักคดีอาญาธนบุรี
 18. สำนักคดีอัยการสูงสุด
 19. สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน
 20. สำนักงานต่างประเทศ
 21. สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย
 22. สำนักงานวิชาการ
 23. สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
 24. สำนักงานคดีล้มละลาย
 25. สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
 26. สำนักงานคดีปกครอง
          องค์กรในจังหวัดต่างๆ
 1. สำนักงานอัยการเขต 1 – 9
 2. สำนักอัยการจังหวัด มี 75 สำนักงาน
 3. สำนักงานอัยการประจำศาล อยู่ที่อำเภอ 23 สำนักงาน รับผิดชอบคดีศาลแขวง 21 สำนักงาน รับผิดชอบคดีเยาวชนและครอบครัว 33 สำนักงาน
 4. สำนักงานคดีปกครองเชียงใหม่
 5. สำนักงานคดีปกครองสงขลา
 6. สำนักงานคดีปกครองนครราชสีมา
 7. สำนักงานคดีปกครองขอนแก่น
 8. สำนักงานคดีปกครองพิษณุโลก
 นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ร่วมกับแพทย์นิติเวช พนักงานฝ่ายปกครอง พนักงานสอบสวนออกไปชันสูตรพลิกศพผู้ที่ตายจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน (วิสามัญฆาตกรรม) หรืออยู่ในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน ตามที่กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้เป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการ นอกจากนั้น ยังเข้าร่วมคุ้มครองเด็กซึ่งอยู่ในฐานะผู้เสียหาย พยาน หรือผู้ต้องหา ในการสอบสวนในคดีอาญา ซึ่งมีเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ หรือนักจิตวิทยาเข้าร่วมสอบสวนด้วย โดยมีการผลัดเปลี่ยนเวรกันทั้งในเวลาราชการและนอกราชการ

คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพมีดังต่อไปนี้

 1. จบหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต หรือสอบไล่ได้รับปริญญา หรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศ ซึ่งคณะกรรมการอัยการเทียบว่าไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี
 2. จบตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
 3. ได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายเป็นข้าราชการตุลาการ จ่าศาล รองจ่าศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าพนักงานบังคับคดี พนักงานคุมประพฤติ นายทหารพระธรรมนูญหรือทนายความ หรือได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายอย่างอื่นตามที่คณะกรรมการอัยการกำหนด ทั้งนี้ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี และให้
คณะกรรมการอัยการมีอำนาจออกระเบียบกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพนั้นๆ ด้วย
 4. มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
 5. มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปี
 6. เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญด้วยความบริสุทธิ์ใจ
 7. เป็นสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา
 8. ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
 9. ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
 10. ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งให้พักราชการ หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการหรือตามกฎหมายอื่น
 11. ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ
 12. ไม่เป็นผู้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้ทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
 13. ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือมีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการอัยการ หรือเป็นโรคที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง
 14. เป็นผู้ที่คณะกรรมการแพทย์มีจำนวนไม่น้อยกว่าสามคน ซึ่งคณะกรรมการอัยการจะได้กำหนดได้ตรวจ
ร่างกายและจิตใจแล้ว และคณะกรรมการอัยการได้พิจารณารายงานของแพทย์เห็นว่าสมควรรับสมัครได้

ผู้ที่สนใจในอาชีพนี้ ควรเตรียมความพร้อมดังนี้

          ต้องผ่านการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ในมหาวิทยาลัยที่มีการเปิดสอนคณะนิติศาสตร์ และต้องสอบได้เนติบัณฑิต (นบ.) นอกจากนี้ยังต้องมีคุณสมบัติดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นทุกประการ

โอกาสในการมีงานทำ

          ผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้ได้ต้องผ่านการสอบคัดเลือกและต้องมีคุณสมบัติดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นอาชีพที่ต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้เท่านั้น เมื่อผ่านการคัดเลือกแล้วก็จะได้รับตำแหน่งเป็นอัยการผู้ช่วย คือ อัยการชั้น 1 ก่อนในขั้นต้นทุกคน และจะได้พิจารณาเลื่อนขั้นเป็นอัยการประจำกอง หรืออัยการจังหวัดผู้ช่วย (อัยการชั้น 2) ต่อไป
          เนื่องจากปัจจุบันมีการจัดตั้งศาลยุติธรรมเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับกับคดีที่เกิด เพื่อไม่ให้คดีล้นศาลและเพื่อความรวดเร็วในการพิจารณาคดี ทำให้ยังคงมีความต้องการพนักงานอัยการเพื่อมาทำหน้าที่มากขึ้น เพื่ออำนวยความยุติธรรมและเป็นหลักประกันความเป็นธรรมให้แก่สังคมต่อไป

โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ 

          ผู้ที่เป็นพนักงานอัยการ จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดจากคณะกรรมการอัยการ และเมื่อรับราชการในตำแหน่งอัยการไม่น้อยกว่า 2 ปี สามารถสอบคัดเลือกเป็นผู้พิพากษาต่อไปได้ พนักงานอัยการเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ความก้าวหน้าในอาชีพย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถและความซื่อสัตย์ ซื่อตรง หากปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตแล้วย่อมมีความก้าวหน้าในอาชีพได้อย่างแน่นอน

อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง

          นิติกร ผู้พิพากษา พนักงานสอบสวน อาจารย์พิเศษสอนวิชานิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน เจ้าของสำนักงานกฎหมาย หรือทนายความผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายในหน่วยงานกฎหมายระหว่างประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น