สัตวแพทย์ทั่วไป
นิยามอาชีพ
ตรวจและวินิจฉัยโรคหรืออาการบาดเจ็บของสัตว์ : บำบัดรักษาป้องกันและการกำจัดโรคโดยการใช้ยา การผ่าตัด การฝังเข็มหรือใช้รังสีในการรักษา การผ่าซากสัตว์เพื่อการชันสูตรโรคทำการตอนหรือขยายพันธุ์สัตว์ด้วยเทคนิคที่สามารถป้องกันการแพร่หรือการติดต่อของโรคทางการสืบพันธุ์ ; ค้นหาข้อมูลเหตุของโรคระบาดหรือโรคติดต่อ พร้อมกับหาทางป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่ไปยังสัตว์หรือจากสัตว์มาสู่คน รวมถึงการทำงานด้านนิเวศวิทยา สุขศาสตร์การอาหาร มาตรฐานอาหารและปนเปื้อนในอาหารที่มีต้นกำเนิดมากจากสัตว์เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ; ทำการเพิ่มผลผลิตในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ให้มีประสิทธิภาพและทำการวิจัยและพัฒนาทางด้านสัตวแพทย์
ลักษณะของงานที่ทำ
1. ตรวจโรคและให้การรักษาโดยใช้ยาหรือผ่าตัดสัตว์ที่เจ็บป่วย บาดเจ็บหรือต้องให้การรักษา 2. ตรวจสัตว์ที่เจ็บป่วยเพื่อดูอาการผิดปกติของสัตว์ สั่งยาหรือให้ยาหรือทำการผ่าตัด 3. ตรวจร่างกายของโคนมหรือสัตว์อื่นๆ เป็นระยะและฉีดยาป้องกันโรค เช่นอหิวาห์ตกโรค โรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น 4. ค้นหามูลเหตุของโรคระบาดและหาทางป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่ไปยังสัตว์ 5. ให้บริการด้านสูติศาสตร์ ให้คำแนะนำเจ้าของสัตว์ในด้านสุขศาสตร์ การให้อาหาร การผสมพันธุ์และการเลี้ยงดูทั่วๆไป 6. ผ่าซากสัตว์เพื่อชันสูตรโรค 7. อาจเชี่ยวชาญในการรักษาสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น สัตว์เลี้ยง โคนม ม้า สัตว์ปีกหรือหมูหรือเชี่ยวชาญทางสัตว์แพทย์ศาสตร์สาขาใดสาขาหนึ่ง เช่น ศัลยกรรม หรือรังสีวิทยา เป็นต้น
สภาพการจ้างงาน
ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ ได้รับค่าตอบแทนการทำงานเป็นเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา โดยผู้ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานจะได้รับเงินเดือนในอัตรา ดังนี้
หน่วยงาน
วุฒิการศึกษา ราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชนปริญญาตรี 8,190 12,000 – 15,000 ปริญญาโท 9,040 15,000 – 18,000 ปริญญาเอก 10,600 18,000 – 25,000
ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ส่วนใหญ่ ทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง อาจต้องมาทำงาน วันเสาร์ วันอาทิตย์และวันหยุด นอกจากผลตอบแทนในรูปเงินเดือนแล้วในภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนอาจได้รับผลตอบแทนในรูปอื่น เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินสะสม เงินช่วยเหลือสวัสดิการในรูปต่างๆ เงินโบนัส เป็นต้น สำหรับผู้ที่มีเงินทุนสามารถประกอบธุรกิจส่วนตัว โดยรายได้ที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับความสามารถ ความอุตสาหะ และทำเลของสถานที่ประกอบธุรกิจ
สภาพการทำงาน
ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ทำงานในสถานที่ที่เหมือนกับสำนักงานทั่วไป โดยมีห้องรักษาสัตว์ที่มีเตียงตรวจและอุปกรณ์สำหรับการรักษาหรือบางครั้งต้องออกทำงานนอกสถานที่ในกรณีที่ไม่สามารถนำสัตว์มาที่คลินิกได้ หรือทำงานนอกสถานที่ในกรณีที่ต้องทำงานป้องกันโรคระบาดหรือตรวจเยี่ยมตามบ้านหรือฟาร์มของเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ การตรวจรักษาสัตว์ต้องระมัดระวังสัตว์ที่ดุร้ายหรือกลัวและโกรธ ซึ่งมีโอกาสกัดหรือทำร้ายได้ ผู้ประกอบอาชีพนี้ต้องเข้าใจธรรมชาติของสัตว์แต่ละชนิดเพื่อที่จะได้ทำการตรวจรักษาได้อย่างปลอดภัย
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ 1. สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาสัตวแพทย์ศาสตร์
2. มีนิสัยรักสัตว์และรักที่จะประกอบอาชีพนี้ 3. มีทัศนคติที่ดีต่อองค์กรและเพื่อนร่วมงาน 4. มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง อดทน เพราะในบางครั้งต้องดูแลสัตว์ขนาดใหญ่ 5. ต้องมีความสนใจในวิชาชีววิทยาและสามารถสอบได้คะแนนสูงในวิชานี้ 6. มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานตรวจโรคและให้การรักษาโดยใช้ยาหรือผ่าตัดสัตว์ที่เจ็บป่วย บาดเจ็บหรือต้องการรับการรักษา 7. มีความละเอียดรอบคอบ ช่างสังเกตสนใจกระตือรือร้นในการ ทำงาน สนใจแสวงหาความรู้ใหม่ๆ 8. มีความซื่อสัตย์ต่ออาชีพ กล้าตัดสินใจ รับผิดชอบในการทำงาน ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ควรเตรียมความพร้อมดังต่อไปนี้ ต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสาขาวิชาสัตวแพทย์ศาสตร์ หลักสูตรการศึกษา 6 ปี จากสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยโดยศึกษาวิชาทางสัตวแพทย์ เรียนวิชาที่เกี่ยวกับตัวสัตว์เกือบทั้งหมดทั้งกายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา เกี่ยวกับจุลชีววิทยา วิทยาภูมิคุ้มกัน ปาราสิตวิทยา พยาธิวิทยา อายุรศาสตร์ เภสัชวิทยา ศัลยศาสตร์ เธนุเวชและวิทยาการ สืบพันธุ์ สัตวแพทยศาสตร์ สาธารณสุขการปฏิบัติทางคลีนิค ทุกรายกลุ่มวิชาจะครอบคลุมในสัตว์เลี้ยง (สุนัข แมว) สัตว์เศรษฐกิจและสัตว์ป่า
โอกาสในการมีงานทำ
ความต้องการผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ ขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เพราะนอกจากจะประกอบธุรกิจส่วนตัวแล้ว สถานประกอบกิจการภาคเอกชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ และผู้ประกอบกิจการด้าน ปศุสัตว์ ล้วนแต่ต้องพึ่งสัตวแพทย์ในการดูแล และตรวจรักษาทั้งสิ้น ถ้าปีใดเศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวลดลงจะมีผลกระทบต่อตลาดแรงงานในอาชีพนี้บ้าง ปัจจุบัน ประเทศไทยรณรงค์ด้านการสงวนพันธุ์สัตว์ป่า เช่น ช้าง เสือ กระทิง จึงมีสัตวแพทย์ประจำโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือสัตว์ป่าที่พลัดหลง หรือบาดเจ็บ ส่วนผู้ประกอบการด้านปศุสัตว์นั้นมีเพิ่มขึ้นเพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ไปจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งจำเป็นจะต้องทำให้สินค้ามีคุณภาพและปลอดจากโรค ความต้องการสัตว์แพทย์จึงยังคงมีอยู่และอาจเพิ่มมากขึ้น ถ้าการส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม มีผู้นิยมเลี้ยงสัตว์ในบ้านเรือนส่วนบุคคลมากขึ้น ความต้องการสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลหรือคลินิก อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกทั้งโอกาสในการประกอบอาชีพส่วนตัวเป็นไปได้ค่อนข้างสูง เพราะผู้เลี้ยงสัตว์มักนำสัตว์เลี้ยงของตนไปคลีนิกมากขึ้น เนื่องจากต้องการความสะดวกรวดเร็วในการตรวจและรักษา สัตว์เลี้ยง
แหล่งจ้างงาน
1. หน่วยงานราชการ ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2. หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ องค์การสวนสัตว์ 3. หน่วยงานเอกชน ได้แก่ คลินิกรักษาสัตว์สถานประกอบกิจการเลี้ยงสัตว์ บริษัทยาและอาหารสัตว์ 4. ประกอบธุรกิจส่วนตัว ได้แก่ คลินิกรักษาสัตว์
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
ผู้ประกอบอาชีพสัตวแพทย์ที่ทำงานจนมีความชำนาญและประสบการณ์จะได้รับการเลื่อนขั้นตำแหน่งไปจนถึงระดับผู้บริหาร สำหรับสัตวแพทย์ที่ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วก็มีโอกาสในการทำงานเป็นอาจารย์สอนในสถาบันหรือมหาวิทยาลัยทั่วไปที่มีหลักสูตรสัตวแพทย์ ผู้ประกอบอาชีพนี้สามารถประกอบอาชีพอิสระโดยการเปิดคลีนิกรักษาสัตว์ เป็นรายได้หลักหรือรายได้เสริมนอกเหนือจากงานประจำได้เช่นกัน
อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
นักพยาธิวิทยาทางสัตวแพทย์ศาสตร์ สัตวแพทย์อื่น ๆ ผู้ช่วยลูกมือสัตวแพทย์ |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น